การปักชำ
หมายถึง การนำส่วนต่างๆของพืช เช่น กิ่ง ใบ ราก มาตัดเป็นส่วนๆ ให้ยาวพอประมาณ (2-4 นิ้ว) แล้วนำไปปักชำลงในวัสดุปักชำ เพื่อให้เกิดรากงอกและแตกยอดอ่อนเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่
ประเภทของการปักชำ
“การปักชำใบ” หมายถึง การนำเอาแผ่นใบหรือใบที่มีก้านใบติด มาปักชำลงในวัสดุปักชำ เพื่อให้ส่วนของใบนี้ ออกราก แตกยอดอ่อนเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ เช่น ลิ้นมังกร คว่ำตายหงายเป็น
“การปักชำกิ่งหรือลำต้น” หมายถึง การนำเอาส่วนของกิ่งหรือลำต้นพืชมาตัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ นำไป ปักในวัสดุปักชำ การปักชำแบบนี้แบ่งตามลักษณะเนื้อไม้ ได้แก่
การปักชำกิ่งแก่หรือกิ่งที่มีอายุมาก พืชที่นิยมปักชำ ได้แก่ เฟื่องฟ้า กุหลาบ ชบา พู่ระหง
การปักชำกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ พืชที่นิยมปักชำ ได้แก่ ฝรั่ง ชมพู่ ลำไย
การปักชำกิ่งอ่อนหรือยอดอ่อน การปักชำลักษณะนี้ต้องใช้กิ่งมีใบติดมาด้วยเป็นจำนวนมาก เพื่อจะได้ทำหน้าที่ สังเคราะห์ด้วยแสง เพราะกิ่งไม่มีอาหารสะสมเพื่อนำมาสร้างรากและยอด พืชที่นิยมปักชำวิธีนี้ เช่น แก้ว กุหลาบ โกสน ดาวเรือง เบญจมาศ พุด ไทร
การคัดเลือกกิ่งพันธุ์
- ควรเลือกกิ่งพันธุ์ที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป โดยสังเกตจากสีของกิ่งควรมีสีน้ำตาลอ่อน หรือเกือบเข้ม มีเนื้อไม้สมบูรณ์ อายุไม่เกิน 1 ปี
- ควรเป็นกิ่งเดี่ยว ไม่แตกแขนงมากเกินไป(ไม่ควรเกิน 3 แขนง)
- ควรมีตาติดบริเวณผิวของกิ่งพันธุ์ เพื่อให้ง่ายต่อการแตกยอดใหม่
- ปราศจากโรคติดต่อ และแมลงศัตรูพืช